อุทยานธรรมเขานาในหลวง แหล่งปฏิบัติธรรมท่ามกลางธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ของสุราษฎร์ธานี อุทยานธรรมเขานาในหลวง เป็นสำนักสงฆ์ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเขานาใน หมู่ที่ 8 ต.ต้นยวน อ.พนม สุราษฎร์ธานี ที่นี่มีความสงบร่มเย็น แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศธรรมชาติแห่งขุนเขาอันแสนงดงาม เป็นสำนักสงฆ์ที่เหมาะกับการมาปฏิบัติธรรม และที่นี่ยังเป็นสถานที่จัดอบรมวิปัสสนากรรมฐานอีกด้วย ที่นี่เป็นที่ตั้งของเจดีย์ลอยฟ้าพระพุทธศิลาวดี ก่อสร้างด้วยศิลาแลงจากเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่บนยอดเขาหินปูนสูงจากพื้นดินเกือบ…
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร แหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศาสนาพุทธนับว่าเป็นหนึ่งในศาสนาสำคัญของโลก นอกจากการปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ชาวพุทธยังนิยมปฏิบัติธรรมหรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามวัดต่างๆ ด้วย วันนี้ SuratVans.com มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ที่มีชื่อเสียงของภาคใต้มาแนะนำกัน ซึ่งนอกจากจะมีชื่อเสียงยาวนานแล้ว ยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย นั่นก็คือ “วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร“
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 50 ถนนรักษ์นรกิจ หมู่ที่ 3 ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น 1 ใน 3 โบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของภาคใต้ อันได้แก่ เจดีย์พระมหาธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช พระพุทธไสยาสน์ในถ้ำ วัดคูหาภิมุข จังหวัดยะลา และพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพุทธสถานเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยไว้ได้อย่างสมบูรณ์ วัดพระบรมธาตุไชยาจึงเป็นวัดที่มีความสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวไชยาและสุราษฎร์ธานีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ยกฐานะขึ้นเป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 มีนามว่า วัดพระธาตุไชยา และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เลื่อนฐานะวัดพระธาตุไชยาขึ้นเป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร” เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500
วัดพระบรมธาตุไชยาฯ เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีตของอาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรสำคัญบนคาบสมุทรมลายูที่มีขอบข่ายอำนาจจรดเกาะสุมาตรา ที่แม้ว่าได้รับการบูรณะไปมากตลอดระยะเวลากว่า 1,200 ปี แต่ก็ยังหลงเหลือเค้าเดิมในส่วนของเรือนธาตุ อันได้แบบฉบับมาจากจันทิของศิลปะชวา นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังเคยมีการค้นพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรครึ่งองค์ ที่งดงามอ่อนช้อยราวกับมีชีวิต รวมถึงศิลปะวัตถุที่ส่งแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปะสมัยหลังอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นวิวัฒนาการทางอารยธรรมที่สำคัญของชาติซึ่งมีคุณค่าเกินกว่าจะมองข้าม
เจดีย์พระบรมธาตุไชยาเป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยองค์เดียว ที่ยังอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 ไม่ปรากฎประวัติการสร้างและผู้สร้าง โดยสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในขณะที่เมืองไชยา สมัยศรีวิชัยกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เจดีย์พระบรมธาตุนี้เป็นสัญลักษณ์ในดวงตราประจำจังหวัด และเป็นสัญลักษณ์ในธงประจำกอง รวมทั้งผ้าพันคอลูกเสือด้วย ซึ่งว่ากันว่าถ้าใครไปเที่ยวสุราษฎร์ธานี หากไม่ได้ไปนมัสการพระบรมธาตุไชยาแล้ว ก็เหมือนกับว่ายังไปไม่ถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังนั้นการมาเยี่ยมชมวัดพระบรมธาตุไชยาฯ แห่งนี้จึงเป็นเหมือนการเปิดหน้าต่างบานใหญ่ ที่ทำให้เรามองเห็นภาพอันสวยงามจากครั้งหนึ่งในอดีตของสุราษฎร์ธานี
ประวัติความเป็นมาของวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร
วัดพระบรมธาตุไชยาฯ เป็นปูชนียสถานที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสะท้อนถึงความเฟื่องฟูแห่งพุทธศาสนาที่เข้ามาหยั่งรากในภาคใต้ของไทย โดยองค์พระเจดีย์นั้นสร้างขึ้นตามแบบลัทธิมหายาน ในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยยังครองความรุ่งเรือง สังเกตได้จากโบราณวัตถุโบราณสถานที่ยังปรากฏอยู่ ทำให้ทราบว่าวัดนี้มีมานานหลายยุคหลายสมัย คือตั้งขึ้นแล้วร้างไป แล้วกลับฟื้นฟูมาใหม่ในพื้นที่เดียวกันดังต่อไปนี้
สมัยทวาราวดี
มีพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่เท่าคนและขนาดย่อมกว่า เหลืออยู่ในบริเวณนี้จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ คือพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดสูง 104 ซ.ม. หน้าตักกว้าง 74 ซ.ม. ทำด้วยศิลา ลักษณะประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางหงายซ้อนกัน ขมวดพระเกศาเป็นต่อมขนาดโต อุษณีย์ปรากฎไม่ชัด ไม่มีอูรณา จีวรบางแนบพระองค์ มีแต่ขอบที่ห่มคลุมอังสะซ้าย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ปัจจุบัน พระพุทธรูปประทับยืนบนฐานบัว ลงรักปิดทองทั้งสององค์ จีวรห่มคลุม ปลายจีวรตัดตรง รัดประคดมีลวดลาย ไม่มีพระรัศมี เม็ดพระเกศากลมใหญ่ ทำด้วยศิลา ขนาดสูง 142 ซ.ม. ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ด้วยเหตุนี้ทำให้เชื่อถือได้ว่า วัดนี้หรือสถานที่แห่งนี้ มีมาแล้วตั้งแต่สมัยทวาราวดี คือระหว่าง พ.ศ.1000 – 1200
สมัยสุโขทัย
มีพุทธศิลป์เป็นแบบสกุลช่างนครศรีธรรมราช โดยได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ มีหลักฐานปรากฏเป็นใบพัทธสีมาคู่แฝดปรากฏอยู่รอบๆ เขตพระอุโบสถเดิมของวัด ทำให้เชื่อได้ว่าสมัยนี้มีการปรับปรุงวัด หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า วัดนี้มีอยู่ในสมัยสุโขทัยซึ่งพ้องกับสมัยนครศรีธรรมราชนั้น
สมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยกรุงศรีอยุธยามีหลักฐานปรากฏมากมายกว่าสมัยใด คือพระพุทธรูป เป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดง มีมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ มีขนาดโตกว่าคนธรรมดา ลงมาถึงขนาดเท่าคนและขนาดย่อมกว่า แสดงให้เห็นศรัทธาหรือความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาหรือความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาอย่างสูงสุดในสมัยนั้น ของที่นี่
สมัยศรีวิชัย
มีองค์เจดีย์พระมหาธาตุแบบศรีวิชัย หรือที่เรียกกันว่าแบบอินโดชวานีสในทางโบราณคดี ปรากฎอยู่เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมิได้รับการดัดแปลง เว้นแต่ตอนส่วนยอด เพราะได้หักพังลงมาและหายสาบสูญไป จึงทำใหม่เป็นศิลปะแบบไทย และยังมีรูปสำริดของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ขนาดใหญ่ สวยงามเป็นชิ้นเอกของประติมากรรมสมัยนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร และมีองค์ขนาดย่อม ตลอดถึงที่ทำด้วยศิลาอีกหลายองค์ มีมากกว่าในสถานที่ใดในประเทศไทย รวมทั้งเศษหักพังของโบราณวัตถุสมัยเดียวกันอีกหลายชิ้น ดังนั้นทำให้เชื่อได้ว่าวัดนี้มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมัยศรีวิชัย คือระหว่าง พ.ศ. 1200-1500 ด้วย
สิ่งที่น่าสนใจในวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร
พระวิหารคด
พระระเบียงหรือพระวิหารคด โดยรอบเจดีย์พระบรมธาตุไชยาทั้งหมด มีแปลนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 39 เมตร สูง 4 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสกุลช่างไชยา ขนาดและปางต่างๆ รวมทั้งสิ้น 180 องค์ และมีพระเจดีย์ หอระฆัง รูปปั้นพระชยาภิวัฒน์ ผู้เป็นประธานในการบูรณะปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยราชการที่ 5 หลังจากนั้นมีการบูรณะอีกเพียงเล็กน้อยบางสมัย พระระเบียงจึงได้ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา
พระวิหารหลวง
พระวิหารหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกขององค์เจดีย์พระบรมธาตุไชยา สร้างยื่นล้ำเข้าไปในพระวิหารคด ในพระวิหารหลวงมีพระพุทธใหญ่น้อยหลายองค์ การบูรณะพระวิหารหลวงนั้น ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยท่านเจ้าคุณพระชยาภิวัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2444 โดยได้เปลี่ยนเครื่องไม้ต่างๆ ใหม่หมด หลังคา 2 ชั้น มีช่อฟ้า นาคสะดุ้ง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ที่หน้าบันสลักลายดอกไม้เทศ พื้นประดับด้วยกระจกสีตามลวดลายปิดทองคำเปลว ฝาผนังใช้โบกปูนใหม่ทั้งหมด ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2502 พระราชชัยกวี เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นประธานในการบูรณะพระวิหารหลวง โดยรื้อพระวิหารหลังเก่าที่ชำรุดออก คงไว้แต่พระพุทธรูปและฝาผนังด้านหลังพระพุทธรูป ส่วนหน้าบันของเดิมนั้นได้นำไปแสดงไว้ในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ศาลานีลวัฒนานนท์ พระวิหารหลวงที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ได้เสริมฝาผนังให้สูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยท้ายพระวิหารหลวงด้านตะวันตก เดิมเป็นห้องลับแล ได้ตัดออกเพื่อเป็นที่นมัสการพระบรมธาตุ แต่เนื่องจากเวลาฝนตกฝนจะสาด ทางวัดจึงปล่อยไว้เป็นห้องโถง เมื่อครั้งพระครูโสภณเจตสิการาม ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ของวัดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2478 ก็ได้ใช้พระวิหารหลวงนี้เป็นสถานที่แสดงโบราณวัตถุต่างๆ ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญ กุศลและประชุมคณะสงฆ์ ต่อมา พ.ศ. 2541 ได้บูรณะอีกครั้งหนึ่ง
พระอุโบสถ
พระอุโบสถตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกขององค์เจดีย์พระบรมธาตุ นอกกำแพงพระวิหารคดเริ่มสร้างประมาณ พ.ศ. 1335 เขตพัทธสีมากว้าง 13.15 เมตร ยาว 18.80 เมตร แต่เดิมนั้นมีใบพัทธสีมาเพียงใบเดียว เรียงรายรอบพระอุโบสถ จนถึงสมัยพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาได้แผ่เข้ามาในประเทศไทยประมาณ พ.ศ. 1800 พระสงฆ์ลังกาได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาซ้ำลงในที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้พระพุทธศาสนาบริสุทธิ์มีความมั่นคง และสมบูรณ์ยิ่งขึ้นวัดที่ได้ผูกพัทธสีมาซ้ำแล้ว จึงให้ปักใบพัทธสีมาเพิ่มขึ้นเป็นคู่แฝด โดยมากมักจะเป็นอารามหลวง ด้วยเหตุนี้วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหารจึงมีใบพัทธสีมา 2 ใบ ดังปรากฎเห็นอยู่ในปัจจุบัน หลังจากท่านเจ้าคุณพระชยาภิวัฒน์ ได้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุและพระวิหารคดแล้ว ทางวัดได้ทำการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวัดได้ยกฐานขึ้นเป็นพระอารามหลวงแล้ว ได้รับงบประมาณเมื่อ พ.ศ. 2498 ทางวัดได้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ตรงที่เดิม แต่ขยายส่วนออกไปอีกยาวกว่าเดิมเล็กน้อยภายในพระอุโบสถมีพระประธาน เป็นพระรูปศิลาทรายแดงปางมารวิชัย สมัยอยุธยา เบื้องหน้าพระประธานมีใบพัทธสีมาคู่ ซึ่งเป็นของเดิมแต่ครั้งพระอุโบสถหลังเก่า
พระพุทธรูปศิลาทรายแดง 3 องค์
พระพุทธรูปศิลาทรายแดง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่กลางกลางแจ้งบนลานภายในกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยา โดยฝีมือสกุลช่างไชยา อาสนะเป็นของทำใหม่โดยยกให้สูงขึ้น
รูปปั้นพระชยาภิวัฒน์ ( หนู ติสฺโส )
พระชยาภิวัฒน์ มีพระราชทินนามเต็มว่า พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ ชาวบ้านบางมะเดื่อ ตำบลบางมะเดื่อ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เคยแสดงตลกหลวงหน้าพระที่นั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้อุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์
วิหารหลวงพ่อโต
เป็นส่วนของวิหารที่ประดิษฐานขององค์พระใหญ่ หรือหลวงพ่อโต สมัยอยุธยา
นอกจากนี้แล้วภายในวัดฯ ยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในตัวอำเภอไชยาและบริเวณใกล้เคียงด้วย โดยเปิดให้เข้าชมในวันพุธ – อาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
การเดินทางไปวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร
วัดพระบรมธาตุไชยาฯ อยู่ในอำเภอไชยา ห่างจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีประมาณ 54 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไชยา ประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากสถานีรถไฟไชยาประมาณ 1 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ประมาณ 2 กิโลเมตร
สำหรับการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล หากเดินทางจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 41 ที่มุ่งหน้าไปอำเภอชุมพร ประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาบริเวณก.ม. 134 ผ่านสวนโมกข์ และเลี้ยวขวาอีกครั้งตรงสี่แยกโมถ่าย หรือตามถนนทางหลวงหมายเลข 4011 ตรงไปราวประมาณ 2 กิโลเมตรจะเห็นวัดพระบรมธาตุไชยาอยู่ทางขวามือ หรือหากท่านเดินทางมาจากเส้นทางอื่น และต้องการคำแนะนำในการเดินทาง ก็สามารถสอบถามเราได้ ยินดีให้คำปรึกษาแนะนำฟรี
นอกจากนี้แล้ว หากท่านใดหรือกลุ่มคณะใดๆ ต้องการเดินทางโดยการเช่ารถตู้พร้อมคนขับ ไม่ว่าจะเริ่มต้นเดินทางจากจุดใด เช่น สนามบินสราษฎร์ธานี สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี และอื่นๆ เพื่อเดินไปวัดพระบรมธาตุไชยาฯ และต่อเนื่องไปสถานที่อื่น ก็สามารถสอบถามเข้ามาได้ตามช่องทางติดต่อที่มีให้ในเว็บไซต์นี้ SuratVans.com รถตู้เช่าสุราษฎร์ธานี ผู้ให้บริการรถตู้เช่าเหมาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งการเดินทางระยะไกลทั่วประเทศ ยินดีให้บริการ
This Post Has 0 Comments